วันอาทิตย์ที่ 8 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

ปัญหาการจัดการศึกษาของไทย

ปัญหาการจัดการศึกษาของไทย

Posted 08/28/2009 - 15:32 by admin
อะไรคือปัญหาการจัดการศึกษาของไทย ที่ทำให้ความพยายามที่จะปฏิรูปการศึกษาในรอบ 7-8 ปีที่ผ่านมา ไม่ค่อยประสบความสำเร็จเท่าที่ควร จากการวิเคราะห์และสังเคราะห์ในภาพรวมแล้ว พบว่ามีอุปสรรคปัญหาสำคัญอยู่ 5 ปัญหาใหญ่ๆ โดยจะกล่าวถึงต่อไปนี้และมีแนวทางออกสำหรับการแก้ไขปัญหาเหล่านี้ได้อย่างไร 1. ปัญหาครูอาจารย์ ผู้บริหารและบุคลากรทางการศึกษาของไทยส่วนใหญ่ ยังขาดความเข้าใจว่า การปฏิรูปการศึกษาที่แท้จริงนั้นหมายถึงการเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่อย่างถึงรากถึงโคน เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นและแตกต่างไปจากเดิม เช่น การเปลี่ยนแปลงวิธีคิด วิธีทำงาน ของผู้บริหารการศึกษาและครูอาจารย์ เปลี่ยนแปลงหลักสูตร วิธีการสอนแบบบรรยายให้ผู้เรียนท่องจำไปสอนแบบครูเป็นผู้ชี้แนะ ช่วยให้เด็กรักการอ่าน การใฝ่เรียนใฝ่รู้ รู้จักที่จะเรียนด้วยตนเอง คิดวิเคราะห์ ทดลอง ลงมือปฏิบัติ แต่การปฏิรูปการศึกษาของไทยในรอบ 7-8 ปีที่ผ่านกลับถูกตีความหมายว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการบริหาร และวิธีการทำงานของครูอาจารย์ตาม กฎหมาย นโยบาย คำสั่ง และคำชี้แนะต่างๆจากบนลงล่าง การที่จะให้คนในองค์กรไม่ว่าครูอาจารย์ ผู้บริหารทุกระดับในกระทรวงศึกษาธิการ ปฏิรูปการศึกษาหรือปฏิรูปตนเองเป็นไปได้ยากและมีข้อจำกัดหลายประการ เนื่องจากมนุษย์เราโดยทั่วไป มีความเคยชินกับวิถีชีวิตเดิม ไม่อยากเปลี่ยนแปลง มักคิดแบบเข้าข้างตนเองว่าตนเองทำถูกแล้วหรือทำดีอยู่แล้ว ถึงแม้จะมีคนในองค์กร บางคนที่มีความคิดก้าวหน้า วิเคราะห์องค์กรตัวเองแบบวิพากษ์วิจารณ์ได้และสนใจที่จะปฏิรูปตัวเองและองค์กรของตัวเองอยู่บ้าง แต่ก็มักเป็นคนส่วนน้อยที่มีอำนาจและบทบาทที่จำกัดทำให้มี การวิเคราะห์ได้จำกัดไปด้วย ไม่เหมือนกับให้คนนอกที่เป็นกลางไม่มีผลประโยชน์เกี่ยวข้องเข้ามา ช่วยวิเคราะห์ ทำให้นักปฏิรูปภายในองค์กรมักจะมองการปฏิรูปในเชิงภาคปฏิบัติจากส่วนที่ตัวเองทำได้ และมักจะเปลี่ยนแปลงแบบเล็กน้อย ค่อยเป็นค่อยไปมากกว่าที่จะมองปัญหาเชิงโครงสร้างที่ ต้องการปฏิรูปเปลี่ยนแปลงอย่างถึงรากถึงโคน หรือเปลี่ยนทั้งระบบ ในขณะที่คนนอกจะมีโอกาสมองได้กว้างขวางกว่าและวิพากษ์วิจารณ์ได้มากกว่า การปฏิรูปการศึกษาที่ได้ผลในประเทศอื่นมักจะมาจากแรงผลักดันภายนอกองค์กรโดยอาศัยประธานาธิบดี นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีการศึกษาที่เข้มแข็ง เป็นผู้นำในการปฏิรูปการศึกษา บางประเทศมีการตั้งคณะกรรมมาธิการแห่งชาติเพื่อการปฏิรูปการศึกษา ที่ประกอบด้วย คนนอกกระทรวงศึกษาและไม่ใช่ข้าราชการประจำ มาเป็นคณะผู้นำในการปฏิรูป เพราะเขาเห็นว่า การปฏิรูปการศึกษาเป็นเรื่องที่ต้องมีการเปลี่ยนแปลงอย่างสำคัญในระดับชาติ ไม่ใช่การปรับปรุง เล็กน้อยในระดับกระทรวง รวมทั้งยังมีแรงผลักดันจากผู้ปกครอง นายจ้าง นักเรียนนักศึกษา ผู้นำชุมชน ผู้นำทางสังคม ที่ตระหนักว่าการปฏิรูปการศึกษาคือความจำเป็นที่จะต้องเปลี่ยนแปลงคุณภาพคนครั้งใหญ่ เพื่อที่จะผลักดันให้เกิดการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคมของประเทศได้อย่างแท้จริง สำหรับในประเทศไทยในช่วงเริ่มต้นปฏิรูปการศึกษาราวปี พ.ศ.2540-2544 มีการจัดตั้งคณะกรรมการอำนวยการปฏิรูปการศึกษา (สปศ.) ที่เป็นองค์กรต่างหากจากหน่วยงานประจำในกระทรวงศึกษาธิการ และมีคณะกรรมการมาจากหลายฝ่ายแต่ส่วนใหญ่ก็ยังเป็นนักการศึกษาที่มาจากมหาวิทยาลัยในระบบราชการ องค์กรนี้ได้เน้นการปฏิรูปในเชิงเสนอกฎหมายใหม่และเมื่อดำเนินการร่างกฎหมายเสร็จ องค์กรนี้ก็ยุติบทบาทไปไม่มีคนอื่นนอกจากผู้บริหารกระทรวง ศึกษาธิการ ที่จะมาคอยติดตามประเมินผล และปรับปรุงแก้ไขในการดำเนินการปฏิรูปการศึกษา ส่วนนักการเมืองของไทยนั้น ส่วนใหญ่จะสนใจในการพัฒนาเศรษฐกิจ/ธุรกิจแบบเน้นการเจริญเติบโตของสินค้าและบริการ มองการศึกษาเป็นแค่เครื่องมือในการรับใช้ระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยมเพื่อการแสวงหากำไรสูงสุดของเอกชนมากกว่าจะสนใจการพัฒนาคนทั้งประเทศ ให้มีความรู้และคุณธรรมเพื่อแก้ไขและพัฒนาสังคมได้อย่างแท้จริง พวกเขามักคิดว่าการจัดการศึกษาแบบแพ้คัดออก คัดคนส่วนน้อยมาเรียนมหาวิทยาลัยเพื่อไปทำงานรับใช้ระบบเศรษฐกิจก็ดีอยู่แล้ว ทำให้นักเรียนนักศึกษาและประชาชนโดยทั่วไปมองการศึกษาเป็นเพียงบันไดในการหางานทำ และเลื่อนฐานะทางสังคมไม่ได้มองการศึกษาอย่างวิพากษ์วิจารณ์ หรือถึงบางคนจะคิดบ้างแต่ก็ไม่รู้สึกรุนแรงมากพอที่จะเป็นฝ่ายเรียกร้องผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลง แม้แต่ภาคธุรกิจเอกชนก็ยังไม่มีการรวมพลังเข้ามาช่วยผลักดันการปฏิรูปการศึกษาทั้งระบบอย่างจริงจัง อาจเป็นเพราะนักธุรกิจ นักบริหารของไทยโดยทั่วไปแล้วยังคิดอยู่ในกรอบผลประโยชน์ส่วนตัวและองค์กรของตนมากกว่าที่จะมีวิสัยทัศน์คำนึงถึงผลประโยชน์ส่วนรวมของประเทศในระยะยาวอย่างมุ่งมั่น ทางออกในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว ทำได้โดยการลดขนาดและบทบาทของกระทรวงศึกษาธิการลง ด้วยการส่งเสริมให้มีการจัดการศึกษาโดยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ภาคธุรกิจเอกชน และองค์กรอื่นๆเป็นสัดส่วนที่สูงขึ้นแทน จากการวิจัยและประเมินผลของ สมศ.และ หน่วยงานพบว่า นักเรียนในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานที่จัดโดยโรงเรียนสาธิต มหาวิทยาลัยเอกชน และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น มีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนสูงกว่านักเรียนของสถาบันการศึกษาของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานของรัฐ ดังนั้นการปฏิรูปการศึกษาโดยให้เอกชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และองค์กรอื่นๆจัดการศึกษาเป็นสัดส่วนที่สูงขึ้น จะช่วยส่งเสริมให้มี การแข่งขันของสถานศึกษา ทำให้การปฏิรูปการบริหารจัดการศึกษาและกระบวนการเรียนเป็นไปได้เร็วขึ้น รวมทั้งการลดอำนาจและบทบาทของกระทรวงศึกษาธิการในส่วนกลางลง โดยกระจาย อำนาจไปให้เขตพื้นที่การศึกษาและสถาบันการศึกษาโดยตรงเพิ่มขึ้น ให้เสรีภาพองค์กรอื่นๆในการ จัดตั้งสถาบันการศึกษา ให้สถานศึกษากำหนดหลักสูตร กระบวนการเรียนการสอนได้เองโดยไม่ต้องขออนุญาตกระทรวงศึกษาธิการ โดยให้ สมศ.ซึ่งเป็นองค์กรมหาชนเป็นผู้ประเมินและรับรอง มาตรฐานของสถาบันการศึกษาและให้ข้อมูลข่าวสารต่อผู้บริโภค เพื่อให้เกิดการแข่งขันในด้านคุณภาพ และรัฐต้องเพิ่มงบประมาณให้สถาบันการศึกษาขนาดกลางและขนาดเล็กในจังหวัดและ อำเภอรอบนอก ส่งเสริมให้ครูอาจารย์มีแรงจูงใจในการไปทำงานโรงเรียนรอบนอกเพิ่มขึ้นเพื่อยกระดับสถาบันการศึกษาทั่วประเทศให้มีคุณภาพใกล้เคียงกับสถาบันการศึกษาขนาดใหญ่ในเมือง นอกจากนี้แล้วต้องปฏิรูประบบงบประมาณให้รัฐสามารถจ่ายเงินอุดหนุนให้สถานศึกษาแบบอื่นๆ ได้อย่างยืดหยุ่นคล่องตัวด้วย

      2. ปัญหาการขาดภาวะผู้นำที่ตระหนักถึงรากเหง้าและความสำคัญของปัญหาการปฏิรูป การศึกษา มองปัญหาเรื่องการศึกษาอย่างเชื่อมโยงกับเรื่องอื่นในสังคมแบบเป็นระบบองค์รวม และ รู้จักจัดลำดับความสำคัญเร่งด่วนของปัญหา เพื่อก่อให้เกิดแกนนำในการเปลี่ยนแปลง (Critical Mass) ที่จะไปผลักดันการเปลี่ยนแปลงการปฏิรูปการศึกษาทั้งระบบได้อย่างแท้จริง หากผู้นำมอง ปัญหาแคบและมีวิสัยทัศน์แคบแล้ว ยังทำงานแบบระบบราชการที่รวมศูนย์อำนาจที่ส่วนกลางและ สั่งงานแบบลดหลั่นกันลงมาเป็นชั้น โดยคำนึงระเบียบกฎเกณฑ์มากกว่าผลของงาน ใช้วิธีการทำงานแบบจัดสรรกำลังคนและงบประมาณไปตามกระทรวง สำนักงานคณะกรรมการ กอง แผนก โดยปล่อยให้ต่างหน่วยงานต่างทำงานแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าของตนไปวันๆ ไม่มีการวิเคราะห์ใน ภาพรวมว่า เนื้อหาและเป้าหมายของงานที่สำคัญ คืออะไร ไม่มีการประเมินว่าปัญหา จุดบกพร่อง อยู่ที่ไหน ควรแก้อย่างไร ควรจะต้องจัดลำดับความสำคัญของการแก้ไขปัญหาต่างๆก่อนหลังอย่างไร ถึงแม้จะมีการแก้ไขกฎหมายปรับโครงสร้างการบริหารมีการกระจายและแบ่งงานกันทำใน ระดับสำนักงานคณะกรรมการ และเขตพื้นที่การศึกษาต่างๆก็เป็นการเปลี่ยนแปลงเฉพาะรูปแบบ แต่เนื้อหาก็ยังเป็นการมอบหมายงานตามระบบราชการรวมศูนย์ที่สั่งงานจากบนลงล่างแบบเดิมๆ ทำให้การดำเนินงานของกระทรวงศึกษาธิการที่ผ่านมา ยังไม่ได้ตอบโจทย์ใหญ่ของการปฏิรูปการศึกษาว่า โครงการเหล่านั้นช่วยให้เกิดการปฏิรูปการเรียนการสอนที่ทำให้ผู้เรียนได้เรียนรู้อย่างมีประสิทธิภาพ เป็นคนเก่ง ดี มีสุข ตามเป้าหมายของการปฏิรูปการศึกษาได้มากน้อยเพียงใด ทางออกในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว ต้องหาคนนอกที่เข้าใจปัญหาการศึกษาอย่างถึงรากเหง้าเป็นระบบองค์รวม และมีภาวะผู้นำมาเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ โดยผ่าตัด การปฏิรูปการบริหารของกระทรวง จัดลำดับความสำคัญให้การปฏิรูปครูอาจารย์ ผู้บริหารและบุคลากรทางการศึกษาอย่างจริงจังมีความสำคัญเป็นอันดับสูงสุด เพราะกระบวนการจัดการศึกษาการวัดผล และส่งต่อให้ผู้เรียนได้มีโอกาสเรียนต่อหรือไม่อย่างไร ขึ้นอยู่กับคุณภาพและประสิทธิภาพการทำงานของครูอาจารย์เป็นหลัก การจะปฏิรูปครูอาจารย์อย่างขนานใหญ่อาจแบ่งได้เป็น 4 กลุ่ม คือ 1) กลุ่มครูเก่งครูดีอยู่แล้ว ควรเพิ่มแรงจูงใจในการทำงาน เช่น ปรับเงินเดือน เงินวิทยฐานะ ให้ทุนทำวิจัยและทำกิจกรรมเพื่อขยายบทบาทไปช่วยครูคนอื่นๆและช่วยให้ผู้เรียนเรียน รู้ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น 2) กลุ่มครูปานกลาง ซึ่งมีจำนวนมากที่สุดต้องมีโครงการฝึกอบรม ให้การศึกษาใหม่อย่างจริงจัง โดยเน้นให้ครูใช้เวลาในตอนเย็นและช่วงปิดภาคเรียนได้เรียนรู้พัฒนา ตนเอง ผ่านการศึกษาทางไกล การจัดอบรมสัมมนา เพื่อให้ครูเรียนรู้ที่จะเป็นครูแบบใหม่ ที่รักการอ่าน คิด วิเคราะห์และสังเคราะห์เป็น สามารถถ่ายทอดได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยมีแรงจูงใจให้ทุนเรียน ให้งบประมาณสนับสนุนซื้อหนังสือและการใช้อินเทอร์เน็ต ฯลฯ และควรปรับเงินเดือน เงินวิทยฐานะ ภายหลังที่ครูผ่านการประเมินว่าได้มีการเรียนรู้และพัฒนาเพิ่มเติมได้ 3) กลุ่มครูหัวเก่าและครูแบบไม้ตายซาก ที่สอนแบบเก่าไปวันๆ ไม่สนใจอ่านหรือติดตามความรู้ใหม่ ไม่มีจิตใจเป็นครูที่ดี เปลี่ยนแปลงและพัฒนาได้ยาก ถึงจะให้โอกาสในการฝึกอบรมใหม่ ประเมินใหม่แล้วยังไม่ได้ผล ควรถูกโยกไปทำงานธุรการและให้เกษียณก่อนกำหนด 4) กลุ่มครูรุ่นใหม่ ควรมีการคัดเลือก ให้ทุนคนมาเรียนครูแบบหาคนที่มีความคิดอุดมการณ์อยากเป็นครู และเป็นคนเรียนเก่งด้วย โดยมีแรงจูงใจหาตำแหน่งงานให้ ปรับปรุงหลักสูตรการเรียนการสอนให้ท้าทาย มีคุณภาพและประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น ปรับเงินเดือนครูอาจารย์ให้สูงขึ้น เราจึงจะสามารถสร้างคนที่จะเป็นแกนนำไปปฏิรูปการเรียนการสอนแบบใหม่ได้ อีกประเด็นที่ควรให้ความสำคัญไม่น้อยกว่าการปฏิรูปครูอาจารย์ คือ การปฏิรูปที่เริ่มจากตัวผู้เรียน โดยเฉพาะวัยที่สำคัญที่สุดคือ วัยอนุบาลหรือก่อนชั้นประถมศึกษา เนื่องจากเป็นวัยที่สมองมีโอกาสพัฒนามากที่สุด เร็วที่สุด ถ้าเราลงทุนปฏิรูปการศึกษาวัยอนุบาลทั่วประเทศให้มีคุณภาพ จัดการศึกษาแบบกระตุ้นส่งเสริมมีการพัฒนารอบด้าน การเรียนรู้โดยสื่อหลายทางและลงมือปฏิบัติของผู้เรียนให้สอดคล้องกับการเรียนรู้ของสมองอย่างจริงจัง จะเป็นการวางรากฐานที่เข้มแข็ง ช่วยให้นักเรียนฉลาดขึ้น รักการเรียนรู้และพร้อมที่จะเรียนรู้ในระดับต่อไปได้อย่างมี ประสิทธิภาพมากขึ้น สำหรับผู้เรียนวัยอื่นๆสิ่งที่ควรทำคือ การกระตุ้นให้ผู้เรียนรักการอ่าน การเรียนรู้ด้วยตนเอง มีทักษะและกระบวนการคิด เช่น คิดวิเคราะห์ คิดสังเคราะห์ คิดเชื่อมโยง ค้นคว้า ฝึกทำรายงาน โครงการต่างๆด้วยตนเองหรือเป็นกลุ่มย่อยเพิ่มขึ้น ทั้งการศึกษาในหลักสูตรและกิจกรรมนอกหลักสูตร ทั้งในชั้นเรียน สถาบันการศึกษา ชุมชน สังคมภายนอกผ่านสื่อและการจัดกิจกรรมต่างๆก็จะทำให้เยาวชนเปลี่ยนแปลงพัฒนาตนเอง อยากค้นคว้า อยากรู้อยากเห็น กล้าซักถาม ก็จะเป็นแรงผลักดันให้พ่อแม่และครูอาจารย์ ต้องสนใจการอ่านการเรียนรู้เพิ่มเติม เพื่อจะได้ตอบคำถามนักเรียนนักศึกษาได้เพิ่มขึ้น

      3. ปัญหาระบบคัดเลือก การบริหารและการให้ความดีความชอบครูอาจารย์ ผู้บริหารและ บุคลากรทางการศึกษา อยู่ภายใต้ระบบราชการแบบรวมศูนย์กลายเป็นอุปสรรคขัดขวางการปฏิรูปทางการศึกษา ระบบนี้ทำให้ครูอาจารย์ ผู้บริหารส่วนใหญ่ทำงานตามหน้าที่ให้พอผ่านกฎระเบียบไปวันๆก็ได้รับเงินเดือนเพิ่มขึ้นทุกปีตามระบบราชการ ไม่มีการแข่งขัน การตรวจสอบและประเมิน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานอย่างจริงจัง แม้จะมีการประเมินเพื่อเลื่อนขั้นเงินเดือน เลื่อน ตำแหน่งบ้าง แต่ก็เป็นการประเมินภายใต้กรอบข้าราชการแบบหล้าหลัง เช่น การสอบ การประเมินจากงานเขียน การรายงานเอกสาร ไม่ได้มีการประเมินจากผลลัพธ์ทางการเรียนของผู้เรียนอย่างแท้จริง อีกทั้งระบบราชการแบบรวมศูนย์เป็นระบบบริหารแบบอุปถัมภ์ มีการปกป้องผลประโยชน์ ส่วนตัว แบบถ้อยทีถ้อยอาศัย ไม่ค่อยดูแล วิจารณ์ หรือลงโทษเพื่อนร่วมงานในกระทรวงอย่างจริงจัง ส่วนการได้ดีระบบดังกล่าวมักใช้วิธีการประจบ แสดงความจงรักภักดี เป็นพรรคพวก มีการ วิ่งเต้นแลกด้วยผลประโยชน์ภายใต้ระบบอุปถัมภ์ กลายเป็นระบบการบริหารที่ขาดประสิทธิภาพและขาดความเป็นธรรม ทำให้ครูอาจารย์ที่เก่งที่ดีบางส่วนลาออกไปทำงานอื่นที่ท้าทายหรือให้ความพอใจมากกว่า บางส่วนอาจทนอยู่แบบไฟค่อยๆมอดลงตามลำดับ แม้จะเหลือครูดีอยู่บ้างแต่ ส่วนใหญ่คือ ครูที่มีคุณภาพปานกลางรวมทั้งคนที่ไม่ค่อยได้ความ ยังคงทำงานแบบสอนบ้างไม่สอนบ้างพออยู่ได้เป็นวันๆ จึงทำให้คุณภาพการเรียนการสอนต่ำ ผลผลิตของผู้สำเร็จการศึกษามี คุณภาพด้อยลง ทางออกในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว การปฏิรูปครูอาจารย์ควรรักษาครูดีครูเก่งรวมทั้งผู้บริหารที่ดีที่เก่งให้อยู่ต่อ (ไม่ลาออกไปทำงานอื่น) และสร้างแรงจูงใจให้แก่ครูรุ่นใหม่ จะเป็นการลงทุนที่คุ้มค่าและได้ผลดีกว่าที่จะพยายามพัฒนาครูอาจารย์เดิมที่คุณภาพค่อนข้างต่ำทั้งระบบอย่างไม่จำแนก เพราะครูอาจารย์ที่ทำตัวเป็นไม้แก่ดัดยาก ไม่ค่อยสนใจเรียนรู้ ถึงจะมีการจัดอบรมหรือ ให้แรงจูงใจ เช่น ให้เงินวิทยฐานะเพิ่มขึ้น ก็ไม่อาจเปลี่ยนแปลงให้พวกเขาปรับเปลี่ยนวิธีคิด วิธีสอนให้มีคุณภาพดีขึ้นได้มากนัก ดังนั้นต้องมีระบบการประเมินครูอาจารย์อย่างเข้มงวด เอาจริงเอาจังโดยระบบการประเมินต้องมีคุณภาพและยุติธรรม ผู้ที่ถูกประเมินไม่ผ่านในด้านการเป็นครูที่ดี ควรโยกให้ไปทำงานด้านธุรการและงานสนับสนุนการศึกษาที่ยังขาดแคลนอยู่ หรือควรให้เกษียณ ตั้งแต่อายุ 55 ปีได้ โดยจ่ายเป็นบำเหน็จบำนาญให้ และหาครูแบบพันธุ์ใหม่มาทดแทน ทั้งนี้จะต้อง จัดให้มีโครงการคัดคนเรียนเก่งและมีอุปนิสัยที่ดีมาเรียนครู โดยให้ทุนและรับประกันการมีงานทำ เร่งปฏิรูปการฝึกหัดครูอาจารย์แบบใหม่ให้มีคุณภาพแตกต่างไปจากเดิมอย่างแท้จริง รวมทั้งรับผู้จบ ปริญญาตรี โท เอก สาขาต่างๆที่มีความรู้ทางวิชาการค่อนข้างดี มาฝึกอบรมด้านจิตวิทยาการเรียนการสอนและการศึกษาเพื่อต่อยอดให้เป็นครูอาจารย์แบบใหม่ โดยปรับระบบเงินเดือนค่าตอบแทน ให้สูงขึ้น และมีการคำนวณบวกประสบการณ์ทำงานให้แบบเดียวกับภาคธุรกิจเอกชนโดยรัฐต้องลงทุนด้านงบประมาณมากพอสมควร แต่ก็จะคุ้มค่าต่อการสร้างครูอาจารย์ที่มีคุณภาพได้เร็วขึ้นในจำนวนที่พอเพียง

      4. ปัญหาด้านประสิทธิภาพการใช้งบประมาณการศึกษาในแง่คุณภาพของผู้จบการศึกษาทุกระดับต่ำกว่าหลายประเทศ ทั้งๆที่การจัดสรรงบประมาณการศึกษาของรัฐบาล คิดเป็นสัดส่วนต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ หรืองบประมาณประจำปีทั้งหมดอยู่ในเกณฑ์สูงเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ปัญหาเกิดจากการใช้งบประมาณไม่เกิดประสิทธิภาพสูงสุดในหลายด้าน เช่น นิยมใช้ งบประมาณไปก่อสร้างอาคารสถานที่ และการซ่อมแซมมากกว่าการใช้วัสดุอุปกรณ์ สื่อการศึกษา หนังสือ ห้องทดลอง ห้องปฏิบัติการ ฯลฯ ซึ่งจะมีส่วนช่วยพัฒนาการเรียนการสอนจริงๆ มีการใช้ งบเดือนครูอาจารย์มาก การกระจายครูอาจารย์ไปตามสถานศึกษามีความไม่เป็นธรรม ครูอาจารย์ที่มีวุฒิการศึกษาสูงกระจุกอยู่แต่ในโรงเรียนขนาดใหญ่ที่อยู่ในเมือง บางโรงเรียนมีครูเกินเกณฑ์ แต่บางโรงเรียนมีครูขาดเกณฑ์ ทำให้โรงเรียนขนาดเล็กในอำเภอรอบนอกมีครูน้อย เพราะจำนวน นักเรียนทั้งโรงเรียนมีน้อย ทำให้ครูคนหนึ่งต้องสอนหลายชั้นหลายวิชา การจัดสรรงบประมาณให้กับระดับการศึกษาและสถานศึกษาต่างๆมีความไม่เป็นธรรม ไม่มีระบบการจัดสรรที่คำนึงถึงต้นทุน และผลตอบแทนอย่างเป็นระบบชัดเจน จัดสรรตามอำนาจ ต่อรองของหน่วยงานและสถาบันต่างๆตามประเพณีปฏิบัติ เช่น สถาบันการศึกษาขนาดใหญ่ที่ได้งบมากอยู่แล้ว พอปีต่อไปก็ของบต่อยอดจากงบประมาณปีก่อนได้เพิ่มขึ้น โดยไม่มีการประเมินผลการใช้งบประมาณ การวางแผนและการพิจารณางบประมาณใหม่แต่ละปีทั้งระบบ ไม่มีการจัดลำดับความสำคัญก่อนหลัง ว่าควรใช้งบประมาณส่วนไหนมากที่สุดจึงจะเพิ่มประสิทธิภาพและ ความเป็นธรรมได้มากที่สุด ทางออกในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว จะต้องจัดการปฏิรูประบบการจัดสรรงบประมาณให้มีประสิทธิภาพและเป็นธรรมมากขึ้น ต้องใช้นักเศรษฐศาสตร์การศึกษาเข้าไปช่วยวางแผนและติดตามการดำเนินงานในกระทรวงศึกษาธิการ รวมทั้งต้องฝึกอบรมให้ผู้บริหารสถานศึกษาทุกระดับ มีความรู้ด้านเศรษฐศาสตร์การศึกษาและการบริหารจัดการและมีจิตสำนึกเพื่อส่วนรวม ให้มี การใช้งบประมาณที่เป็นประโยชน์ต่อการเรียนรู้ของนักเรียนและชุมชนอย่างแท้จริง มีระบบการตรวจสอบประเมินผล รวมทั้งคำแนะนำการใช้จ่ายงบประมาณให้ถูกต้อง โปร่งใสและมีประสิทธิภาพ โดยรัฐสามารถเพิ่มงบประมาณการศึกษาได้หลายทาง เช่น การปฏิรูประบบภาษีอากร แบบเก็บทรัพย์สินของคนรวย ธุรกิจขนาดใหญ่ การบริโภคที่ฟุ่มเฟือยต่างๆเพิ่มขึ้น การปฏิรูปการหารายได้จากทรัพย์สมบัติของชาติ เช่น คลื่นวิทยุโทรทัศน์เพิ่มขึ้น รวมทั้งการให้รัฐบาลและเทศบาลออกพันธบัตรเพื่อการปฏิรูปการศึกษาได้โดยตรงเหมือนประเทศอื่นๆ เพราะการศึกษาเป็นการลงทุนที่ให้ผลคุ้มค่าในระยะยาว รัฐบาลและเทศบาลก็มีเครดิตดีพอที่จะกู้เงินจากภาคเอกชนในรูปพันธบัตรมาใช้เพื่อการปฏิรูปการศึกษาได้ เมื่อประชาชนมีการศึกษาดีขึ้นก็จะช่วยให้การพัฒนา เศรษฐกิจดีขึ้น รัฐบาลและเทศบาลก็จะเก็บภาษีและหารายได้เพิ่มขึ้นพอที่จะนำมาใช้หนี้พันธบัตรได้

      5. ปัญหาระบบการประเมินผลและการสอบแข่งขันเพื่อรับการคัดเลือกเรียนต่อใน มหาวิทยาลัย รวมทั้งการศึกษาระดับอื่นๆด้วย ยังเป็นการสอบแบบปรนัย เพื่อวัดความสามารถในการจดจำข้อมูล ทำให้ขัดแย้งกับแนวคิดปฏิรูปการเรียนรู้แบบใหม่ที่เสนอว่า ควรให้ผู้เรียนได้หัด คิดวิเคราะห์เป็น ระบบการประเมินผลแบบนี้เป็นอุปสรรคในการพัฒนาการเรียนรู้แบบใหม่ที่ต้องการให้ผู้เรียนเก่ง ดี มีความสุข คิดวิเคราะห์ คิดสังเคราะห์เป็น เพราะผู้ปกครอง ครูอาจารย์ นักเรียนต่างก็ห่วงแต่เรื่องทำเกรดเพื่อการสอบแข่งขันในระบบแพ้คัดออก คัดเลือกคนส่วนน้อยไปเรียนระดับสูง ขณะเดียวกันยังมีปัญหาสถาบันการศึกษาที่มีคุณภาพแตกต่างกันมาก โดยเฉพาะ มหาวิทยาลัยของรัฐที่ตั้งมานานและได้รับเงินอุดหนุนจากรัฐมาก ทำให้มีชื่อเสียงและผู้เรียนก็เสียค่า เล่าเรียนที่ต่ำกว่ามหาวิทยาลัยเอกชน ทำให้นักเรียนต้องแข่งขันแย่งกันเข้าไปเรียน เพื่อที่จะได้รับ ปริญญาไปแข่งขันหางานทำ หาเงินให้มากภายใต้ระบบและนโยบายพัฒนาเศรษฐกิจแบบทุนนิยมที่ เน้นการเพิ่มผลผลิตและการแสวงหากำไรสูงสุด ทางออกในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว จะต้องปฏิรูปเปลี่ยนระบบการจัดสรรงบประมาณและการประเมินผล/การสอบคัดเลือกใหม่ จากการที่รัฐจัดสรรงบประมาณอุดหนุนให้แก่สถาบัน การศึกษาของรัฐโดยเฉพาะมหาวิทยาลัยของรัฐทั้งหมดเป็นเงินค่อนข้างมาก เปลี่ยนเป็นการให้คูปองการศึกษาแก่ผู้เรียนที่จะเลือกไปเรียนที่ไหนก็ได้ จัดสรรงบประมาณและกำลังคนให้สถานศึกษาในจังหวัดและอำเภอรอบนอกเพิ่มขึ้น มีทุนการศึกษาและเงินยืมเรียนสำหรับผู้เรียนสายอาชีวศึกษาเพิ่มขึ้น โดยกำหนดคุณวุฒิวิชาชีพและอัตราเงินเดือนผู้จบอาชีวศึกษาให้สูงขึ้น เพื่อส่งเสริมให้นักเรียนเลือกเรียนสายอาชีพเพิ่มขึ้น ไม่ต้องมุ่งแข่งขันแย่งกันเข้ามหาวิทยาลัย ส่วนใคร อยากเรียนต่อมหาวิทยาลัยภายหลังให้ทำได้ง่ายขึ้น เช่น คนที่ทำงานแล้วสามารถมาสมัครเรียนในตอนเย็น เสาร์อาทิตย์ เรียนทางไกลผ่านระบบออนไลน์ทางอินเทอร์เน็ตและการใช้สื่ออื่นๆได้อย่างสะดวกและมีคุณภาพ ถ้าทำได้เช่นนี้นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายก็ไม่ต้องเน้นทำเกรดเพื่อแย่งกันเข้ามหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงมากเกินไป และจะได้เปลี่ยนแปลงค่านิยมแข่งขันเห็นแก่ตัวด้วย การประเมินผล/การสอบคัดเลือกเข้าศึกษาต่อในระดับสูงขึ้น ควรประเมินผลในด้านการ พัฒนาตนเอง ทั้งด้านปัญญา อารมณ์ คุณธรรมจริยธรรม หรือจิตสำนึกเพื่อสังคมอย่างรอบด้านด้วย ไม่ใช่พิจารณาจากการสอบแบบเน้นท่องจำข้อมูลด้านเดียว การรับคนเข้าเรียนต่อระดับสูงต้องพิจารณาจากความถนัด ความเหมาะสมของผู้เรียนด้วย เช่น ในบางประเทศการรับนักศึกษาแพทย์ ได้กำหนดให้ผู้สมัครต้องไปเป็นอาสาสมัครทำงานเป็นผู้ช่วยให้บริการในโรงพยาบาลระยะหนึ่งก่อนจึงจะมาสมัครได้ เพื่อดูคะแนนความประพฤติ นิสัย ความอดทนและมีเมตตาธรรมระหว่างปฏิบัติงาน ประกอบกับคะแนนในชั้นมัธยมปลาย ไม่ใช่ดูคะแนนสอบอย่างเดียว ดังนั้นการรับ นักศึกษาสาขาอื่นๆก็ต้องพิจารณาจากการทำกิจกรรม เพื่อดูความประพฤติและอุปนิสัยใจคอด้วย จึงเป็นเรื่องที่สำคัญและจำเป็นสำหรับการเปลี่ยนวิธีการเรียนการสอน เพื่อเปลี่ยนนิสัย และพฤติกรรมของนักเรียนไปสู่การปฏิรูปการเรียนรู้ที่แท้จริงได้ เพราะจะทำให้นักเรียนได้ตระหนักว่า การศึกษาหมายถึง การเรียนรู้และพัฒนาตนเองในทุกๆด้าน คือทั้งด้านปัญญา อารมณ์ จิตสำนึกเพื่อสังคม ไม่ใช่แค่สอบเพื่อเอาคะแนน วุฒิบัตร ปริญญาบัตรเท่านั้น เราต้องช่วยกันเปลี่ยนแปลงทั้งหมดที่กล่าวมานี้ จึงจะทำให้เกิดการปฏิรูปการเรียนรู้ที่มุ่งให้คนเป็นคนเก่ง คนดี และมีความสุขได้ เพื่อส่งผลต่อความสำเร็จและบรรลุเป้าหมายของการปฏิรูปการศึกษาของประเทศไทยต่อไป

      วิธวิทย์ ทิพย์นพคุณ ผอ.โรงเรียนบ้านไร่อ้อย สพท.เชียงราย เขต 2
แหล่งที่มา http://123.242.164.132/e-articles/Rearticle.php?reNews=99
แหล่งที่มา http://www.moc.moe.go.th/node/354